วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

การทอผ้าด้วยมือ

    การทอผ้าด้วยมือเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งเริ่มจากการ “ อิ้ว” การเข็นฝ้าย การค้น การสืบ และการทอ ตามลำดับ โดยเฉพาะการทอลวดลาย ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน โดยสามารถศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้ ณ กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 ตั้งอยู่ที่ ศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชนและส่งเสริมอาชีพอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
     จากการสอบถามนางบุญทิพย์ บุตรโพธิ์ศรีประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 บ้านเลขที่ 12 ตำบลบ้านโคก อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์บ้าน 0-4321-7012 มือถือ 08-6862-1926 กล่าวว่า ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ สุดยอดสินค้าทางวัฒนธรรมที่ทำให้บุคคลทั่วไปรู้จักอำเภอหนองนาคำ ผ้าฝ้ายมีลวดลายสวยงามเกิดจากฝีมือการทอที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคุณลักษณะเฉพาะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สีที่ได้จากธรรมชาติ ได้สีสวย เย็นตา ไม่ฉูดฉาด และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถละลายน้ำได้ง่าย กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ ประจำอำเภอ อำเภอหนองนาคำจึงนำมาเป็นเอกลักษณ์ในการจัดงานประจำปีในชื่อ เทศกาล “งมปลาน้ำแดง แงงผ้าฝ้าย ไหว้พระพุทธนาคำ”
การทอผ้าด้วยมือโดยสังเขปได้ดังนี้
     ขั้นตอนที่ 1  นำเปียที่มีปอยฝ้ายพันอยู่ ไปเรียงตามลำดับสีของฝ้ายเส้นยืนตามลวดลายที่จะทอโดยนำมาเรียงครั้งละประมาณ 40 หลอด จะได้ฝ้ายเส้นยืนครั้งละ 40 เส้น แล้วนำแต่ละเส้นไปคล้องกับหลักเฝือ เพื่อไม่ให้เส้นฝ้ายพันกัน และขึ้นเฟือขอต่อไป
     ขั้นตอนที่ 2  นำฝ้ายเส้นพุ่งมาขึ้นหลักเฝือหรือทำเส้นยืน ซึ่งหลักเฝือจะทำหน้าที่สำหรับเรียงฝ้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ และทำการสลับเส้นยืนสำหรับใช้กับตะกอ เส้นขึ้น เส้นลงด้านล่างของเฟือขอเมื่อสิ้นสุดการเรียงเส้นฝ้าย จะนำแต่ละเส้นมาม้วนเพื่อให้เกิดลักษณะของการสลับเส้นสำหรับการทอยกเป็นเส้นขึ้นเส้นลง ที่ด้านล่างขวาของหลักเฝือ เราเรียกกันว่า “การค้นหูก”
ขั้นตอนที่ 3  นำกลุ่มฝ้ายเส้นยืนจากหลักเฝือมาทำการ “สืบ” คือการที่นำฝ้ายเส้นที่ได้จากการขึ้นเฟือขอมัดติดกับเขาฟืมเพื่อที่จะได้นำไปขึ้นกี่และทำการทอหูก
     ขั้นตอนที่ 4  หากทอลายเดิมที่เคยทอมา ก็จะนำฝ้ายเส้นยืนใหม่มาต่อกับเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายที่ตัดมาจากการทอครั้งก่อน ที่เรียกว่า “เครือ” คือ เมื่อทอผ้าเสร็จแล้ว ช่างทอจะตัดผ้าที่ทอแล้วออกจากกี่ โดยคงเหลือเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายจากการทอให้ติดอยู่กับตะกอและฟืม เพื่อเป็นต้นแบบของลาย หากจะมีการทอลายนั้นในครั้งต่อไป เพื่อให้การสืบต่อลายทำได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่เก็บไว้การเริ่มต้นขึ้นลายใหม่จะมีความยากลำบากมาก ดังนั้น ช่างทอจึงต้องเก็บลายไว้ทุกเครือ เนื่องจากเส้นยืนมีความยาวมาก ก่อนทอหรือเมื่อทอไปได้สักระยะหนึ่ง เส้นยืนอาจจะพันกันได้ ดังนั้นจึงต้องคอยคลี่จัดเส้นยืนออกเพื่อไม่ให้พันกัน
     ขั้นตอนที่ 5  หลังจากการสืบลายแล้ว สามารถเริ่มกระบวนการทอได้ โดยการเหยียบไม้เหยียบเพื่อยกเขาฟืมขึ้นลง แล้วพุ่งกระสวยสอดเข้าไปในช่องว่าง ระหว่างเส้นยืน ให้เส้นพุ่ง ๆ ไปขัดกับเส้นยืนและใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งอัดเรียงกันแน่น แล้วใช้เท้าเหยียบไม้เหยียบให้ตะกอให้เส้นยืนสลับขึ้นลง และพุ่งกระสวยกลับไปกลับมาขัดกับเส้นยืน หลังจากที่พุ่งเส้นพุ่งไปมาและใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งแน่นหลาย ๆ ครั้ง ก็จะได้ผ้าทอเป็นผืน


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น