วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

การสกัดสีหรือแยกสีจากวัสดุย้อม

การสกัดสีหรือแยกสีจากวัสดุย้อม
ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ สุดยอดสินค้าทางวัฒนธรรมที่ทำให้บุคคลทั่วไปรู้จักอำเภอหนองนาคำ ผ้าฝ้ายมีลวดลายสวยงามเกิดจากฝีมือการทอที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคุณลักษณะเฉพาะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สีที่ได้จากธรรมชาติ ได้สีสวย เย็นตา ไม่ฉูดฉาด และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถละลายน้ำได้ง่าย จากการสอบถามนางบุญทิพย์ บุตรโพธิ์ศรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 บ้านเลขที่ 12 ตำบลบ้านโคก อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์บ้าน 0-4321-7012 มือถือ 08-6862-1926 กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ ประจำอำเภอ อำเภอหนองนาคำจึงนำมาเป็นเอกลักษณ์ในการจัดงานประจำปีในชื่อ เทศกาล “งมปลาน้ำแดง แงงผ้าฝ้าย ไหว้พระพุทธนาคำ”
ขั้นตอนการสกัดสีหรือแยกสีจากวัสดุย้อม
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีสีสังเคราะห์เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ได้เริ่มมีความนิยมกลับไปใช้สีธรรมชาติกันมากขึ้น แม้ว่าสีสังเคราะห์จะมีความสดสวยและคงทน แต่สีก็ฉูดฉาด ไม่เย็นตา สีธรรมชาติจะดูดติดสีเส้นไหมได้ดีที่สุด รองลงมาคือฝ้าย และไม่เหมาะที่จะใช้ย้อมเส้นใยสังเคราะห์ การย้อมสีธรรมชิตจะได้ผลดีเมื่อน้ำย้อมสามารถแทรกซึมเข้าไปในเส้นใยได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขจัดสิ่งเจือปนและสิ่งสกปรกที่ติดมากับเส้นใยออกเสียก่อน ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า การเตรียมวัสดุก่อนการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นเปลือกไม้ แก่น เนื้อไม้ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช ควรจะนำวัสดุมาย่อยให้มีขนาดเล็กลง อาจใช้วิธีการเลื่อย สับ บด หรือทุบก็ได้ตามความเหมาะสมและสะดวก ทั้งนี้ นางบุญทิพย์ บุตรโพธิ์ศรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองนาคำ หมู่ที่ 1 แจ้งว่า ส่วนใหญ่กลุ่มนิยมการสกัดสีหรือแยกสีจากวัสดุย้อมโดยใช้เปลือกไม้ แก่นไม้และใบไม้ ส่วนต่าง ๆ ของพืชจะให้สีแตกต่างกัน เช่น ใบจากพืชเกือบทุกชนิดให้สีเขียวใกล้เคียงกัน สีจากแก่นของลำต้นส่วนมากจะให้สีเหลืองและสีน้ำตาล ดอกและผลส่วนมากจะให้สีตามสีของดอกและสีของผลที่มองเห็น และส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ต่างชนิดกันอาจให้สีเหมือนกัน เช่น สีเหลืองอาจได้จากแก่นไม้จำพวกแก่นแกแล แก่นขนุน สีแดงได้จากแก่นฝาง ครั่ง ลูกคำแสด สีดำได้จาก ผลมะเกลือ สีเขียวได้จากใบสบู่เลือด ใบหูกวาง สีฟ้าจากดอกอัญชัญ เป็นต้น สีที่ได้จากดอกและใบจะมีความคงทนน้อยกว่าสีที่ได้จากแก่น รากและผล ซึ่งมีขั้นตอนและกรรมวิธี ดังนี้
1. เปลือกไม้
1.1 สับเปลือกไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
1.2 ใช้ผ้าขาวบางห่อเปลือกไม้ นำลงต้ม (เปลือกไม้ 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 10 ลิตร) ต้มไฟอ่อน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง
1.3 นำห่อเปลือกไม้ออกจากภาชนะต้ม ในขั้นตอนนี้อาจทิ้งน้ำสีสกัดไว้ 1 คืน หรือ 24 ชั่วโมง ก็ได้ ถ้าหากต้องการให้สีกินฝ้ายดีในขั้นตอนการย้อม
1.4 เตรียมฝ้ายเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการย้อมต่อไป
2. วัสดุจากแก่นไม้ สับแก่นไม้เป็นชิ้นเล็ก ๆ (แก่นไม้ 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 10 ลิตร) ห่อด้วยผ้าขาวบาง นำห่อแก่นไม้ใส่หม้อต้มไฟอ่อน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง นำห่อแก่นไม้ออกจากภาชนะต้ม เตรียมฝ้ายเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการย้อมต่อไป
3. วัสดุจากใบไม้ ให้ใช้ใบไม้สดมากกว่าน้ำหนักของฝ้าย ประมาณ 3-4 เท่า ต้มสกัดที่ไฟอ่อน นานประมาณ 1 ชั่วโมง นำห่อใบไม้ออกจากภาชนะต้ม เตรียมฝ้ายเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการย้อมต่อไป






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น